Skip to content

“เดวิด เบคแฮม” กับลูกปั่นฟรีคิกโค้ง ๆ ของเขา

“ในหัวของเบ็คแฮม มีการคำนวณหาวิธีที่มีรายละเอียดอย่างมากเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณ และการฝึกฝน ในขณะที่คอมพิวเตอร์ของเราใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการทำสิ่งเดียวกัน”

ในช่วงเวลานั้น ถ้าใครได้ดูการถ่ายทอดฟุตบอลสดบ่อย ๆ แล้วละก็ คุณจะไม่มีทางที่จะไม่เคยเจอลูกยิงฟรีคิกของ เดวิด เบ็คแฮมเลย ซึ่งลูกฟรีคิกของเขานั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมาก หากอยู่ในระยะทำการ และยากที่ผู้รักษาประตูคู่แข่งจะรับมือได้

ในเชิงสถิติเขาอาจจะเป็นรอง จูนินโญ่ แปร์นัมบูกาโน่ เจ้าของสถิติยิงฟรีคิกได้มากที่สุดในโลก แต่ความอันตรายอาจจะไม่ต่างกัน เพราะมันทั้งแรง ทั้งเร็ว และที่สำคัญมันยังมีแนวโค้งที่เป็นเอกลักษณ์ จนยากจะเลียนแบบ

แม้ว่าในโลกใบนี้ จะมีผู้เล่นที่ยิงฟรีคิกได้ดีอยู่มากมาย แต่มีนักเตะน้อยคนที่จะเป็นที่จดจำในฐานะ “เจ้าพ่อลูกนิ่ง” ถ้าเทียบเป็นเกมฟีฟ่า หรือวินนิ่งก็ ฟรีคิก 99

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฟรีคิกของเบ็คแฮม มีความอันตรายคือลูกโค้งที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนมากแล้วประตูที่เกิดขึ้น หากไม่โค้งหนีมือผู้รักษาประตู ก็จะเป็นลูกยิงเต็มข้อ หรือไม่ก็ลูกโค้งอ้อมกำแพงแล้วเสียบเสาตุงตาข่ายแบบผู้รักษาไม่ได้ขยับ อย่างไรก็ดีฟรีคิกที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เช่น

#แมกนัสเอฟเฟค

แมกนัส เอฟเฟค ปรากฎการณ์ที่ค้นพบโดย เฮนริค กุสตาฟ แม็กนัส นักวิจัยชาวเยอรมัน เมื่อลูกบอลหมุนแหวกผ่านอากาศอย่างรวดเร็ว จะดึงเอาอากาศที่อยู่รอบตัวหมุนไปด้วย และในขณะที่ลูกบอลหมุน อากาศที่เคลื่อนที่ผ่านลูกบอลซีกหนึ่งจะเคลื่อนที่เร็วขึ้น ส่วนอีกฟากหนึ่งจะเคลื่อนที่ช้าลง ฝั่งที่เคลื่อนที่เร็วจะมีแรงดันน้อยกว่า จึงทำให้ลูกบอลวิ่งออกไปเป็นวิถีโค้ง

เคยมีคนพิสูจน์ทฤษฎีนี้ด้วยการโยนลูกบาสจากเขื่อนที่สูงหลายร้อยเมตร โดยครั้งแรกเขาโยนมันลงไปตรง ๆ ซึ่งทำให้ลูกบาสตกลงมาตรง ๆ ไม่ได้เคลื่อนที่ไปจากจุดที่โยนมากนัก ต่อมาเขาลองหมุนลูกบาสเข้าหาตัว แล้วค่อยปล่อยมือพบว่า ลูกบาสสามารถเดินทางในอากาศได้นานขึ้น ก่อนจะลอยไปตกในจุดที่ไกลกว่าจุดปล่อยหลายเมตร

.

ลู บลูมฟิลด์ ศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัย เวอร์จีเนีย อธิบายว่ามันเป็นหลักฟิสิกส์ของลูกฟุตบอลที่เหมือนกับลูกโค้งของลูกบอลชนิดอื่นๆ

“ลูกโค้งเป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นจากแรงแมกนัส เมื่อลูกบอลหมุน อากาศก็มีแนวโน้มที่จะวิ่งเข้าหาด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง เพราะมันถูกดึงเข้ามาด้วยพื้นผิวของลูกบอล”

แน่นอนว่าฟรีคิกของเบ็คแฮมได้รับอิทธิพลมาจากปรากฎการณ์นี้โดยตรง โดยเฉพาะประตูอันโด่งดังในเกมพบกรีซ ที่ตอนแรกเหมือนจะลอยไปทางซ้ายของผู้รักษาประตูหรือมุมขวาของประตู แต่กลับโค้งเข้ามาเสียบมุมซ้ายเข้าประตูไป

ดร.คีธ ฮานนา นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเบื้องหลังลูกยิงดังกล่าวอธิบายว่า “ลูกยิงของเขามีความเร็ว 80 ไมล์ (128 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง จากระยะ 27 เมตร และขยับออกไปจากด้านข้างกว่า 2 เมตร เนื่องด้วยปริมาณการหมุน ช่วงครึ่งหลังมันลดความเร็วทันทีเหลือ 42 ไมล์ (67 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง ก่อนจะมุดลงและเสียบเข้าไปด้านบนของมุมประตู”

อย่างไรก็ดี การยิงลูกโค้งเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้หากฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ แต่ถึงอย่างนั้น ถึงแม้จะรู้วิธีการยิง หรือมีสมการที่ตายตัว แต่ก็ไม่มีใครยิงได้เหมือน และมีประสิทธิภาพเท่าตัวเขาเองอีกแล้ว